เรือนไทยภาคอีสาน
ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน
การสร้างบ้านของชุมชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยโบราณมักเลือกทำเลที่ตั้งอยู่ตามที่ราบลุ่มที่มีแม่น้ำสำคัญ ๆ ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสงคราม ฯลฯ รวมทั้งอาศัยอยู่ตามริมหนองบึง ถ้าตอนใดน้ำท่วมถึงก็จะขยับไปตั้งอยู่บนโคกหรือเนินสูง ดังนั้นชื่อหมู่บ้านในภาคอีสานจึงมักขึ้นต้นด้วยคำว่า ลักษณะหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานนั้น มักจะอยู่รวมกันเป็นกระจุก ส่วนที่ตั้งบ้านเรือนตามทางยาวของลำน้ำนั้นมีน้อย ผิดกับทางภาคกลางที่มักตั้งบ้านเรือนตามทางยาว ทั้งนี้เพราะมีแม่น้ำลำคลองมากกว่า ซึ่งมีองค์ประกอบทั่วไปดังนี้
1 แหล่งน้ำ นับเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก อาจเป็นหนองน้ำใหญ่ หรือห้วย หรือลำน้ำที่แยกสาขามาจากแม่น้ำใหญ่ ที่มีน้ำเฉพาะฤดูฝน ส่วนมากเป็นที่ราบลุ่มสามารถทำนาและเลี้ยงสัตว์ได้ในบางฤดูเท่านั้น ชื่อหมู่บ้านมักขึ้นต้นด้วยคำว่า “เลิง วัง ห้วย กุด หนอง และท่า” เช่น เลิงนกทา วังสามหม้อ ห้วยยาง กุดนาคำ หนองบัวแดง ฯลฯ
2 บริเวณที่ดอนเป็นโคกหรือที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง สามารถทำไร่และมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีทั้งที่ดอนริมแม่น้ำและที่ดอนตามป่าริมเขา แต่มีน้ำซับไหลมาบรรจบเป็นหนองน้ำ ชื่อหมู่บ้านมักขึ้นต้นด้วยคำว่า “โคก ดอน โพน และโนน” เช่น โคกสมบูรณ์ ดอนสวรรค์ โพนยางคำ ฯลฯ
3 บริเวณป่าดง เป็นทำเลที่ใช้ปลูกพืชไร่และสามารถหาของป่าได้สะดวก มีลำธารไหลผ่าน เมื่ออพยพมาอยู่กันมากเข้าก็กลายเป็นหมู่บ้านและมักเรียกชื่อหมู่บ้านขึ้นต้นด้วยคำว่า “ดง ป่า และเหล่า” เช่น โคกศาลา ป่าต้นเปือย เหล่าอุดม ฯลฯ
4 บริเวณที่ราบลุ่ม เป็นพื้นที่เหมาะในการทำนาข้าว และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในหน้าแล้ง ตัวหมู่บ้านจะตั้งอยู่บริเวณขอบหรือแนวของที่ราบติดกับชายป่า แต่น้ำท่วมไม่ถึงในหน้าฝน บางพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขังตลอดทั้งปี เรียกว่า “ป่าบุ่งป่าทาม” เป็นต้น
5 บริเวณป่าละเมาะ มักเป็นที่สาธารณะสามารถใช้เลี้ยงสัตว์และหาของป่าเป็นอาหารได้ ตลอดจนมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่นำมาเป็นอาหารยังชีพ รวมทั้งสมุนไพรใช้รักษาโรค และเป็นสถานที่ยกเว้นไว้เป็นดอนปู่ตา ตามคติความเชื่อของวัฒนธรรมกลุ่มไต-ลาว
การเลือกภูมิประเทศเพื่อตั้งหมู่บ้านในภาคอีสานจะเห็นได้ว่ามีหลักสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ ต้องเลือกทำเลที่ประกอบด้วย
• น้ำ เพื่อการยังชีพและประกอบการเกษตรกรรม
• นา เพื่อการปลูกข้าว (ข้าวเหนียว) เป็นอาหารหลัก
• โนน เพื่อการสร้างบ้านแปลงเมือง ที่น้ำท่วมไม่ถึง
บ้านประเภทถาวร
ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น “เรือนเครื่องสับ” สังเกตได้จากการเลือกใช้วัสดุ รูปแบบของการก่อสร้าง ประโยชน์ใช้สอยและความประณีตทางช่าง อาจจำแนกเรือนถาวรได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้
1 ชนิดเรือนเกย มีลักษณะใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว เสาใช้ไม้กลม 8 เหลี่ยม หรือเสา 4 เหลี่ยม ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เกย ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ (ร้านหม้อน้ำ)
2 ชนิดเรือนแฝด มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยมเช่นเดียวกัน ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เรือนแฝด เกย ชานแดด เรือนไฟ ฮ้างแอ่งน้ำ
3 ชนิดเรือนโข่ง มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยม มีจั่วแฝดอยู่ชิดติดกัน ไม่นิยมมีเกย เรือนชนิดนี้ประกอบด้วย เรือนใหญ่ เรือนโข่ง ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ
ลักษณะเรือนไทยอีสาน
ชาวอีสาน มีความเชื่อในการสร้างเรือนให้ด้านกว้างหันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก ให้ด้านยาวหันไปทางทิศเหนือและใต้ ซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า วางเรือนแบบ “ล่องตาเว็น” (ตามตะวัน) เพราะถือว่าหากสร้างเรือนให้ “ขวางตาวัน คือเป็นอัปมงคลทำให้ผู้อยู่ไม่มีความสุข บริเวณรอบ ๆ เรือนอีสานไม่นิยมทำรั้ว เพราะเป็นสังคมเครือญาติมักทำยุ้งข้าวไว้ใกล้เรือน บางแห่งทำเพิงต่อจากยุ้งข้าว มีเสารับมุงด้วยหญ้าหรือแป้นไม้ เพื่อเป็นที่ติดตั้งครกกระเดื่องไว้ตำข้าว ส่วนใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นบริเวณที่มีการใช้สอยมากที่สุด จะมีตั้งแต่ตั้งหูกไว้ทอผ้า กี่ทอเสื่อแคร่ไว้ปั่นด้าย และเลี้ยงลูกหลาน นอกจากนั้นแล้ว ใต้ถุนยังใช้เก็บไหหมักปลาร้า และสามารถกั้นเป็นคอกสัตว์เลี้ยง ใช้เก็บเครื่องมือเกษตรกรรม ตลอดจนใช้จอดเกวียน