ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน
เนื่องจากคนไทยแต่โบราณมีอาชีพส่วนใหญ่ทำอาชีพกับการเพาะปลูก จึงชอบสร้างบ้านตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำ เพื่อความสะดวกต่อการค้าขาย ไปมาติดต่อ ชาวบ้านในภาคกลางจึงผูกพันและใช้ประโยชน์ต่างๆจากแม่น้ำ เมื่อถึงฤดูฝนฝนตกหนักน้ำนองพื้นดิน พื้นที่สำหรับบ้านจึงต้องยกสูง หรือเลือกหาเพื่อหนีน้ำ ส่วนเรือนที่ปลูกก็ต้องยกพื้นเรือนให้สูง
คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์การดำรงชีวิตจึงไม่เพียงต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือดื่มกินซักผ้าล้างภาชนะเท่านั้น แต่ต้องการน้ำเป็นจำนวนมากเพื่อใช้ในการเกษตร การตั้งหมู่บ้านส่วนใหญ่ จึงเกิดขึ้นริมแหล่งน้ำ คือ แม่น้ำลำคลอง หนองบึง ฯลฯ นอกจากนี้ แม่น้ำลำคลองยังใช้เป็นทางสัญจรไปมาหาสู่ระหว่างหมู่บ้าน ระหว่างเมืองได้อีกด้วย โดยมีองค์ประกอบหมู่บ้านตามความจำเป็นในการใช้งานเกิดขึ้นตามบ้านเรือน ได้แก่ วัดและตลาด
นอกจากนี้ ยังเกิดหมู่บ้านในลักษณะอื่นๆอีก หมู่บ้านจึงมีรูปแบบลักษณะของผังแตกต่างกัน พอสรุปได้ ดังนี้
1. หมู่บ้านริมน้ำ คือหมู่บ้านที่เกิดตามริมแม่น้ำ ลำคลอง มีลักษณะยาวไปตามลำน้ำ พื้นที่ด้านหลังหมู่บ้านมักเป็นสวน ถัด
2. หมู่บ้านริมทาง คือหมู่บ้านที่เกิดขึ้นจากการเป็นจุดพักของคนเดินทางที่ต้องเดินทางไกล ชาวบ้านชาวป่าจึงมาปลูกเพิงเพื่อขายอาหารหรือของจำเป็นอื่นๆ หรือแลกกับสินค้าบนเกวียน เมื่อผู้เดินทางมากขึ้น เพิงมากขึ้น ที่สุดก็กลายเป็นเรือนพักอาศัยและชุมชนหรือหมู่บ้านขึ้น ด้านหลังหมู่บ้านก็มักเป็นสวนและไร่นาเช่นเดียวกับหมู่บ้านริมน้ำ ลักษณะการรวมตัวกัน ศูนย์กลางและโครงสร้างหมู่บ้านคล้ายกับแบบแรก
3. หมู่บ้านดอน คือหมู่บ้านที่เกิดขึ้นห่างจากแม่น้ำลำคลอง มักตั้งอยู่รวมกันบนที่ดอนหรือพื้นที่ที่สูงกว่านาที่อยู่โดยรอบ มักขุดสระน้ำเพื่อกินใช้ในหมู่บ้าน และใช้น้ำฝนหรือน้ำบาดาลในการทำการเกษตร