top of page

บ้านไทยสมัยเก่า

ใต้ถุนสูง

   เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเรือนไทย ในอดีตคนไทยมักจะปลูกเรือนติดริมน้ำ เพื่อความสะดวกในการสัญจรทางน้ำและการประกอบอาชีพกสิกรรม ตัวเรือนจึงถูกออกแบบให้ยกสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมบ้านในฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้เรายังสามารถใช้พื้นที่ใต้ถุนเป็นที่พักผ่อน ทำงาน เลี้ยงสัตว์ เก็บของใช้ ป้องกันโจรและสัตว์ร้ายขึ้นเรือน เนื่องจากบันไดของเรือนไทยสามารถยกเก็บเข้าบ้านได้

   ในแง่ของการออกแบบแล้ว ใต้ถุนที่โล่งจะช่วยให้ลมพัดผ่านสะดวกมากขึ้น และตัวเรือนด้านบนยังเป็นเกราะป้องกันความร้อนให้พื้นที่ใต้ถุนได้เป็นอย่างดี เมื่อประโยชน์ของใต้ถุนมีมากขนาดนี้ ใครที่กำลังคิดปลูกบ้านถึงแม้จะไม่ใช่ทรงไทยก็ตาม อย่าลืมทำใต้ถุนให้บ้าน นอกจากนี้การปลูกต้นไม้และพืชคลุมดิน ยังทำให้สภาพแวดล้อมรอบๆบริเวณใต้ถุนและบ้านดูร่มรื่นเย็นสบาย

ซุ้มทางเข้า
และหอนก

   ซุ้มทางเข้า เป็นองค์ประกอบเล็กๆที่ทำให้เรือนไทยมีเอกลักษณ์โดดเด่น และยังช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้บ้านดูอบอุ่น ในเชิงดีไซน์ยังช่วยแบ่งขอบเขตระหว่างภายนอกและภายในบ้าน ให้ผู้มาเยือนรู้สึกว่าได้เข้ามาในพื้นที่ของบ้านแล้ว
   "หอนก" คือ ศาลาเล็กๆที่ใช้สำหรับปลูกไม้ดอก หรือแขวนกรงนกต่างๆ เช่น นกเขา นกขุนทอง ซึ่งเป็นงานอดิเรกของคนในสมัยก่อน และใช้เป็นที่นั่งเล่นรับลมของสมาชิกในบ้าน อีกทั้งเมื่อเรามองจากนอกบ้าน หอนกยังช่วยลดทอนขนาดของบ้านให้ดูมีมิติมากขึ้น

รั้วโปร่ง
เฉลียง หรือ
ระเบียงหน้าห้อง

   รั้วของชานบ้านเรือนไทยเป็นส่วนช่วยกั้นขอบเขตและสร้างความเป็นส่วนตัวให้บ้าน ลักษณะคล้ายผนังบ้านยื่นต่อออกมาจากตัวเรือน บางส่วนเจาะเป็นช่องลูกกรงเพื่อระบายอากาศ อีกทั้งยังเป็นช่องที่คนในบ้านสามารถมองออกไปเห็นคนข้างนอกได้ด้วย

   เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างภายนอกและภายในห้อง เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยในร่มมากขึ้น หลังคาคลุมเฉลียงจะยื่นยาวออกมาจากกันสาด ปลายอีกด้านจะวางอยู่บนเสาเฉลียง พื้นที่ส่วนนี้นอกจากจะเป็นส่วนอเนกประสงค์แล้ว ยังช่วยกรองแสงและปรับสภาพ ไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายเร็วเกินไปในขณะที่เราเดินเข้า-ออกบ้าน จนเป็นสาเหตุให้ไม่สบายได้
 

ผนังหายใจได้

   หลายคนอาจเคยได้ยินว่า เรือนไทยเป็นบ้านมีชีวิต ทั้งเป็นเพราะเรือนไทยมีการออกแบบผนังบ้านให้สามารถระบายอากาศได้ ผนังที่ว่านี้ก็คือ "ฝาสำหรวด" ฝาเรือนที่ทำจากไม้ไผ่หรือไม้กระบอกสานกันบนโครงไม้ค่อนข้างถี่ เป็นฝาเรือนที่เหมาะจะใช้เป็นผนังครัว เพราะสามารถระบายอากาศได้เร็ว
 

การเข้าสลัก–เดือย

   จุดเด่นอีกอย่างของเรือนไทยก็คือ เป็นเรือนประกอบที่สามารถถอดแยกส่วนได้ง่าย หรือจะเรียกว่าบ้านสำเร็จรูปก็ไม่น่าจะผิดนัก เพราะวิธีการปลูกเรือนไทย ช่างจะปรุงเรือนแยกชิ้นส่วนโครงหลังคา พื้น ฝาผนัง ประตู-หน้าต่าง บันได บนพื้นดิน จากนั้นจึงนำมาเข้าลิ้นสลัก-เดือยบนตำแหน่งที่จะปลูกเรือน ซึ่งเทคนิคเข้าสลัก-เดือยนี้ เป็นเสน่ห์งานหัตถกรรมและสะท้อนถึงภูมิปัญญาของช่างปรุงเรือนไทยได้เป็นอย่างดี

ชานเรือน

   เรือนไทยมีลักษณะเป็นเรือนหมู่ มีชานเป็นตัวเชื่อมระหว่างเรือนแต่ละหลังเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถต่อเติมเรือนหลังใหม่ได้สะดวก เมื่อลูกสาวออกเรือนมีครอบครัวใหม่ (คนไทยสมัยก่อนเมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายชายจะย้ายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง) เพราะไม่ต้องยุ่งกับโครงสร้างเดิมของเรือนเก่า พื้นชานเรือนไทยจะตีเว้นร่อง เพื่อให้ลมจากใต้ถุนพัดขึ้นมาได้ และช่วยให้ไม้สามารถยืดหดตัวได้โดยไม่โก่งงอ อีกทั้งยังเป็นช่องระบายน้ำเวลาฝนตก อาบน้ำ และป้องกันไม่ให้น้ำขังบนชานจนเป็นสาเหตุให้ไม้ผุได้ หน้าที่สำคัญอีกอย่างของชานคือ เป็นลานกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งช่วยไม่ให้เราอุดอู้อยู่แต่ในบ้าน

ช่องแมวรอด
ร่องตีนแมว

   เป็นช่องว่างระหว่างชานกับพื้นเรือน สูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร ยาวตลอดแนวเรือน เป็นช่องที่ช่วยรีดลมจากใต้ถุนขึ้นมาบนพื้นชาน เพื่อให้บริเวณชานบ้านเย็นสบาย ด้วยระดับความสูงพอเหมาะจะนั่งหย่อนขาได้สบาย ช่องแมวลอดจึงเป็นที่นั่งเล่นหรือทำงานของคนสมัยก่อนด้วย อีกทั้งบ้านที่ยกฐานสูงจากระดับพื้นยังดูเด่นและมีมิติมากกว่าบ้านไม่ยกระดับ

หน้าต่าง

   รูปร่างหน้าตาขึ้นอยู่กับหน้าที่ใช้สอย หรือ "FORM FOLLOWS FUNCTION" เป็นปรัชญาการออกแบบที่บรรพบุรุษไทยนำมาใช้ออกแบบเรือนไทย สังเกตได้จากระดับความสูงของหน้าต่างของเรือนไทยที่สูงจากพื้นเพียง 30-40 เซนติเมตรเท่านั้น เพราะปรกติคนสมัยก่อนจะนั่งและนอนกับพื้น ความสูงหน้าต่างจึงต้องออกแบบให้อยู่ในระดับที่ลมพัดผ่านกระทบร่างกายได้ อีกทั้งคนบนเรือนยังสามารถชะโงกมองออกมาหน้าต่างได้โดยไม่ต้องลุกยืนด้วย

หลังคาเรือนไทย

   ด้วยภูมิปัญญาที่เข้าใจธรรมชาติ หลังคาเรือนไทยจึงมีความลาดชันมาก เพื่อให้สามารถระบายน้ำฝนได้เร็ว แต่น้ำฝนที่ไหลมาตามความลาดชั้นที่มากนั้น ย่อมทำให้น้ำฝนมีโอกาสถูกลมพัดเข้าไปในบ้านได้ง่าย ช่างไทยจึงออกแบบกันสาดให้มีความลาดชันน้อยกว่าหลังคารองรับน้ำฝนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้น้ำฝนที่ไหลลงมาจากหลังคากระเด็นออกไปให้ห่างจากตัวบ้านมากที่สุดนั่นเอง และในด้านความสวยงามแล้ว ยังช่วยลดทอนขนาดไม่ใช้หลังคาบ้านใหญ่เทอะทะเกินไป

bottom of page