top of page

บทสัมภาษณ์ Mr.Danaiwit Yukhong

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรม
1.ท่านคิดว่าเอกลักษณ์ของรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยในอดีตคืออะไร (รวมไปถึง ข้อดี-ข้อเสีย)

ตอบ

เอกลักษณ์ไทยที่พอจะเข้าใจได้ในรูปแบบของการแสดงออกทางสถาปัตยกรรมมีหลายมิติทางสังคม ซึ่งแบ่งได้คร่าวๆเป็นสองสามลักษณะ-สถาปัตยกรรมตามคตินิยมของพราหมณ์_พุธสำหรับบุคคลชั้นสูง ได้แก่ วัด วัง หรือสถานที่ศักสิทธิ์บางประเภท โดยรวมนั้นใช้หลักการออกแบบตามคติพราหมณ์เป็นหลัก รวมถึงการประดับประดาในรูปแบบต่างๆตามอิทธิพลของอินเดียและจีนต่อเนื่องมาแต่โบราณ ผสมผสานปรับตัวมาจนมีกายภาพที่สอดคล้องกับสภาพการใช้ชีวิต ภูมิอากาศ วัสดุพื้นถิ่น จนมีลักษณะเฉพาะตัวที่เหมาะสมกับภูมิภาคนี้ โดยขับเน้นความโอ่อ่า ความงามแบบเหนือจริงเข้าไป-สถาปัตยกรรมท้องถิ่น ได่แก่ หมูบ้าน ยุ้งข้าว โรงเรือน ศาลา ซึ่งมีลักษณะของรูปแบบที่ตอบสนองต่อสภาพดินฟ้าอากาศและวัสดุพื้นถิ่นเป็นเบื้องต้น โดยไม่ได้ขับเน้นความฟุมเฟือยเหนือจริงเข้าไปมากนัก

ข้อดี ..มีความเป็นไปได้สูงที่จะสอดคล้องกับคตินิยม นิสัย และความเป็นอยู่ ..มีรูปแบบที่อ่อนช้อยและยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบต่างๆไปตามยุคสมัยได้โดยไม่ยาก

ข้อเสีย..บางรูปแบบมีมาตรฐานเกินไปจนเกิดการปรับเปลี่ยนได้ยาก..บางรูปแบบไม่ได้สอดคล้องกับเทคโนโลยี่การก่อสร้างและการดำเนินชีวิตของคนปัจจุบัน


2.วิถีชีวิตของคนไทยส่งผลต่อสถาปัตยกรรมในอดีตอย่างไรบ้าง

ตอบ.
คนไทยในสมัยก่อนนิยมอยู่ใกล้น้ำเป็นหลักเนื่องจากไม่เชี่ยวชาญเรื่องการชลประทานนัก และเป็นสังคมเกษตรกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดลักษณะกระจุกตัวริมน้ำและกระจายตัวในภาคเกษตร รูปแบบสถาปัตยกรรมจึงมีแนวโน้มที่จะสัมพันธ์กับการใช้ชีวิต
..ยกตัวอย่างเช่น 
-มักยกชานหนีน้ำ สามารถปรับความเป็นอยู่บนพื้นดินปกติในหน้าแล้งและอาศัยพื้นชานแทนพื้นดินในหน้าน้ำหลากได้
-มักใช้ชานเป็นพื้นที่รับแขกและพบปะสังสรรค์ รวมถึงต้องทำกิจกรรมร่วมกันทำให้ต้องออกแบบส่วนทานอาหารและครัวไว้ส่วนหน้าบ้าน ซึ่งต่างกับปัจจุบัน
-การที่เป็นสังคมเกษตรทำให้แต่ละครอบครัวต้องมีบริเวณบ้านสำหรับทำเกษตรผสมผสาน ดังนั้นการวางตำแหน่งบ้านมักอยู่ห่างกันไปไม่ชิดกันเหมือนประเทศที่มีสังคมค้าขาย( เช่น ประเทศจีน)


3.ท่านคิดว่าสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศส่งผลต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยอย่างไร

ตอบ
สภาพอากาศย่อมมีผลต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมอยู่พอสมควร และแทบจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบหลักของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น 
..ในส่วนของสถาปัตยกรรมประเพณีนั้น ก็ได้มีการปรับรูปแบบให้เข้ากับสภาพอากาศเช่นกัน 
ตัวอย่างเช่น
-การทำหลังคาให้มีความชันสูงเพื่อระบายน้ำฝนได้รวดเร็วเนื่องจากอยู่ในเขตฝนตกชุก
-มีการขยายพื้นที่ชายคาออกไปมากเพื่อกันฝนสาด เกิดการใช้พื้นที่ว่างใต้ชายคาและทำให้เกิดการใช้การค้ำยันในรูปแบบต่างๆกันไป
-ใช้อิฐและไม้เสียเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากอยู่อาศัยในพื้นที่ดินตะกอนแม่น้ำซึ่งนำมาเผาเป็นอิฐแทนการใช้หินได้(ทำให้เกิดรูปแบบของการย่อมุมรับน้ำหนักตามขนาดอิฐอย่างที่พบได้มากในวัดแถบภาคกลางของประเทศ)


4.ท่านคิดว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมที่ค่อยๆเปลี่ยนไปจนมาถึงปัจจุบัน มาจากปัจจัยอะไรบ้าง

ตอบ
-อันดับแรกที่มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยปัจจุบันทันด่วน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบคนละขั้วของอุดมคติ เช่น การปรับรูปแบบสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงกลางที่มีการนำรูปแบบทางยุโรปเข้ามาผสมผสานกับรูปแบบประเพณีนิยมเนื่องจากประสบปัญหาการเมืองภายนอกจากยุคล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตก
หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์แบบก้าวกระโดด ละทิ้งประเพณีนิยมและไปรับอิทธิพลจากทางตะวันตกมาเต็มรูปแบบ
-แต่ที่ว่ามานั้นยังไม่ส่งผลต่อสถาปัตยกรรมท้องถิ่นนัก

ประการที่สอง
-ค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนไปจากการสื่อสารที่ใกล้และรวดเร็วมากขึ้นทำให้เกิดมุมมองใหม่ที่มีต่อชีวิต โดยมีวิทยาศาสตร์และปรัชญาการปกครองแบบใหม่เข้ามาเปรียบเทียบกับความเชื่อแบบเดิมๆ
-เทคโนโลยี่ที่มีการพัฒนามากขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะหลังยุคปฎิวัติอุตสากรรม
-รสนิยมและแฟชั่นที่ไม่อาจคาดเดาได้ในบางลักษณะก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน



5.ท่านคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยคือวิธีใด

ตอบ.
-ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อที่จะได้รู้ข้อดีข้อด้อย
-นำลักษณะที่เหมาะสมมาปรับใช้ให้เข้ากับปัจจุบัน
-ปลุกจิตสำนึกในการรับรู้อัตลักษณ์ของศิลปไทยเพื่อเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการมีอยู่
-ส่งเสริมในด้านประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความจดจำในระดับนานาชาติ

6.ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรม

ตอบ.
เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรมใดๆก็ตาม..เนื่องจากส่วนหนึ่งของระบบสังคมได้ผูกการออกแบบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการบริโภค เช่น การอยู่อาศัย การใช้ชีวิต ..
..ซึ่งธรรมชาติของการออกแบบย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ต่างกับยุคก่อนที่คตินิยมในการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ช้า(อาจจะเพราะการสื่อสารในสมัยก่อนไม่ได้เป็นวงกว้างเหมือนปัจจุบัน)..


 

bottom of page